กมธ.ฯปาล์มน้ำมัน ไม่เห็นด้วย ปรับลดสัดส่วน ไบโอดีเซล เหลือ บี 6 ชนิดเดียว หวั่น กระทบราคาปาล์มส่งผลเสียหายต่อเกษตรกร ขอยืนยันระบบเดิม เพื่อความยั่งยืน
เมื่อเวลา 13.35 น. วันที่ 6 ต.ค.64 ที่รัฐสภา นายสาคร เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ และ น.ส.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาการบริหารจัดการปาล์มน้ำมันอย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกันแถลงกรณีการปรับลดสัดส่วนไบโอดีเซลน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 6%
โดย นายสาคร กล่าวว่า จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติเห็นชอบให้ปรับลดสัดส่วนไบโอดีเซลน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ให้มีสัดส่วนจาก บี 10 และบี 7 เหลือสัดส่วนเดียว คือ บี 6 ตั้งแต่วันที่ 17 ต.ค. – 31 ต.ค.64 เพื่อที่จะลดน้ำมันฐานให้การผสมเหลือ 6% เพื่อที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะเข้ามาช่วยเหลือราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้ดำเนินการลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ จากปัจจุบันที่เก็บจากบี 7 จำนวน 1 บาท เพื่อเข้ากองทุนน้ำมันฯ เหลือ 1 สตางค์ รวมถึงลดค่าการตลาดของน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา จากเดิมมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.80 บาท หรือ 1.40 บาท หรือลดลง 40 สตางค์ เห็นว่าเป็นความต้องการของกลุ่มผู้ค้าน้ำมันบางส่วน ที่ต้องการยกระดับน้ำมันดีเซลให้สูงกว่าลิตรละ 30 บาท
ซึ่งจะก่อให้เกิดขบวนการเขมือบเงินกองทุนน้ำมันจำนวนมหาศาล และเป็นผลร้ายต่อเกษตรกรชาวสวนปาล์ม เพราะปาล์มกำลังมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเข้ามาดูแลในส่วนนี้อย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียหายต่อระบบโดยรวม
น.ส.พิมพ์รพี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ คณะกมธ.ฯ ยังไม่เห็นด้วยกับผลการศึกษาโครงสร้างราคาผลปาล์มน้ำมัน และน้ำมันปาล์ม ตามที่กรมการค้าภายในได้ทำสัญญาว่าจ้างมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ให้ทำการศึกษาโครงสร้างราคาผลปาล์มน้ำมัน และน้ำมันปาล์ม
โดยคณะกมธ.ฯ มีเหตุผลสนับสนุนข้อชี้แจง ดังนี้ 1.ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ซึ่งดำรงตำแหน่งในคณะอนุกรรมการพิจารณาโครงสร้างราคาผลปาล์มน้ำมัน และน้ำมันปาล์ม ก็แสดงความไม่เห็นด้วยกับสูตรโครงสร้างดังกล่าว รวมถึงเป็นการพิจารณาโดยเร่งรัดของกรมการค้าภายใน ทำให้เกษตรกรไม่มีโอกาสได้ตรวจสอบข้อมูลก่อน
2.มีต้นทุนการผลิตในโรงงานที่สูงเกินกว่าปกติ และ 3.ปัจจัยที่นำไปใช้ในการสร้างสูตรการคำนวณโครงสร้างราคาไม่มีความยืดหยุ่น และไม่สะท้อนราคาของตลาดโลก จากเหตุผลทั้งหมดคณะกมธ.ฯ จึงเสนอให้ทำการวิจัยอีกครั้ง และยืนยันว่า จะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาพูดคุยใหม่ เพื่อไม่ให้เกษตรกรเป็นเหยื่ออีกต่อไป
ที่มา : ข่าวสด