By Chaiwat Sowcharoensuk
ปี 2563 - 2565 อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มโดยรวมยังซบเซาโดยความต้องการใช้มีแนวโน้มเติบโตต่ำ ขณะที่ราคายังถูกกดดันจากภาวะอุปทานส่วนเกิน ซึ่งเป็นผลจากการขยายพื้นที่ปลูกอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2552 และสต็อกน้ำมันปาล์มอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ยังต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายทั้งด้านต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง กระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการให้ความสำคัญกับสุขภาพ ตลอดจนแนวโน้มการใช้รถยนต์ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม มาตรการดูแลจากภาครัฐโดยเฉพาะนโยบายการใช้พลังงานทดแทนที่มุ่งส่งเสริมให้มีการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B10 เป็นน้ำมันดีเซลเกรดมาตรฐานและการออกพระราชบัญญัติปาล์มน้ำมัน จะมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบได้บ้าง
ข้อมูลพื้นฐาน
น้ำมันปาล์ม[1] เป็นน้ำมันจากพืชที่มีต้นทุนการผลิตต่ำสุดเมื่อเทียบกับน้ำมันจากพืชชนิดอื่นๆ อาทิ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันเรปซีด (Rapeseed) น้ำมันจากเมล็ดดอกทานตะวัน น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันมะกอก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผลผลิตต่อไร่ของผลปาล์มสดจะสูงกว่าพืชน้ำมันชนิดอื่น 6-10 เท่า[2]
ปี 2561 ทั่วโลกมีปริมาณการผลิตและการบริโภคน้ำมันปาล์ม 70.6 ล้านตัน และ 66.4 ล้านตัน ตามลำดับ คิดเป็นสัดส่วน 39.7% และ 38.6% ของปริมาณการผลิตและการบริโภคน้ำมันจากพืชทุกชนิด แหล่งผลิตน้ำมันปาล์มที่สำคัญอยู่ในภูมิภาคอาเซียน ประเทศผู้ผลิตหลักที่มีบทบาทกำหนดทิศทางราคาในตลาดโลก คือ อินโดนีเซียและมาเลเซีย มีผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบ 39.5 ล้านตัน และ 19.7 ล้านตัน ตามลำดับ (สัดส่วนรวมกัน 83.8% ของผลผลิตโลก) และทั้งสองประเทศนี้ยังเป็นผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลก มีสัดส่วนส่งออกรวมกันเกือบ 90% ของปริมาณส่งออกรวมในตลาดโลก ส่วนประเทศผู้นำเข้าน้ำมันปาล์มที่สำคัญ ได้แก่ อินเดีย (สัดส่วน 18.6% ของปริมาณนำเข้ารวมในตลาดโลก) สหภาพยุโรป (15.3%) จีน (11.5%) และปากีสถาน (6.5%) ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2557-2561) ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบจากทั่วโลก (เพื่อบริโภคและผลิตเป็นเชื้อเพลิง) เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.4% ต่อปี ขณะที่ปริมาณน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.5% ต่อปี ส่งผลให้น้ำมันปาล์มดิบคงเหลือสะสมอยู่ที่ 11.0 ล้านตัน ณ ปี 2561 (ภาพที่ 1 และตารางที่ 1)
แม้ว่าประเทศไทยมีผลผลิตน้ำมันปาล์มสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก แต่มีสัดส่วนน้อยเพียง 3.9% ของผลผลิตน้ำมันปาล์มโลกจึงไม่มีอำนาจหรือบทบาทที่จะกำหนดทิศทางราคาเหมือนอินโดนีเซียและมาเลเซีย พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบของไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้[3] คิดเป็นสัดส่วน 86.4% ของพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันทั่วประเทศโดยเฉพาะในจังหวัดกระบี่ สุราษฎร์ธานี และชุมพร (สัดส่วนรวมกันเกือบ 60%) ที่เหลือ 13.6% กระจายอยู่ในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งหันมาปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2552-2561) ตามยุทธศาสตร์ของแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของประเทศ (ภาพที่ 2) สำหรับปี 2561 ไทยมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันทั้งสิ้น 5.8 ล้านไร่ เพิ่มขึ้น 4.5% จากปี 2560 ในขณะที่พื้นที่ให้ผลผลิตอยู่ที่ 5.1 ล้านไร่ (+5.1%) มีผลผลิตปาล์มน้ำมัน 15.4 ล้านตัน (+9.1%)[4] และมีการสกัดน้ำมันปาล์มดิบ 2.8 ล้านตัน (+5.8%) (ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร)
อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของไทยมีจุดแข็งจากการมีห่วงโซ่การผลิตที่ครบวงจร (ภาพที่ 3) ประกอบด้วย 1) เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน (อุตสาหกรรมขั้นต้น) มีจำนวนประมาณ 2.4 แสนครัวเรือนทั่วประเทศ ประมาณ 79% เป็นรายย่อย สำหรับเกษตรกรรายใหญ่มักมีการลงทุนโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบเป็นของตนเอง 2) โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ (อุตสาหกรรมขั้นกลาง) มีจำนวน 149 แห่ง (ที่มา : กรมโรงงานอุตสาหกรรม) ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ประมาณการกำลังการผลิตน้ำมันปาล์มดิบในประเทศอยู่ที่ 2.8 ล้านตัน/ปี โดยผู้ผลิตรายใหญ่มักขยายการลงทุนสวนปาล์มและเพาะพันธุ์ปาล์มควบคู่ไปด้วย โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบมักนำผลผลิตที่เหลือจากการสกัดน้ำมันปาล์มมาใช้ประโยชน์อื่นๆ อาทิ กากปาล์มใช้ผลิตอาหารสัตว์ ทะลายปาล์มเปล่า เส้นใย และกะลาปาล์มใช้เป็นเชื้อเพลิง เป็นต้น และ 3) โรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ (อุตสาหกรรมขั้นปลาย) มีจำนวน 19 แห่ง โดย สศอ. ประเมินกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 2.5 ล้านตัน/ปี ผู้ประกอบการรายใหญ่มักลงทุนในธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานด้วย อาทิ โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบและธุรกิจผลิตน้ำมันพืช ปัจจุบันโรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ในไทยไม่สามารถดูดซับอุปทานน้ำมันปาล์มดิบได้ทั้งหมด โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบจึงต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ เพื่อระบายอุปทานน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกิน อาทิ โรงงานผลิตน้ำมันไบโอดีเซล (B100) โรงงานไฟฟ้าและไอน้ำ โรงงานไบโอแก๊ส และคลังจัดเก็บน้ำมัน เป็นต้น
ที่ผ่านมา การพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับปาล์มน้ำมันและการส่งเสริมการผลิต/การตลาดของทางการยังขาดความเชื่อมโยง อาทิ อุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอล (Oleochemicals เป็นอุตสาหกรรมผลิตเคมีภัณฑ์จากไขมันปาล์มเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค) อยู่ภายใต้กำกับกระทรวงอุตสาหกรรม ขณะที่อุตสาหกรรมไบโอดีเซลดูแลโดยกระทรวงพลังงาน ประกอบกับศักยภาพการผลิตน้ำมันปาล์มดิบของไทยยังอยู่ในระดับต่ำนับเป็นข้อจำกัดด้านการแข่งขันในตลาดโลก สอดคล้องกับช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2557-2561) อัตราการใช้กำลังการผลิตของโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ระดับเพียง 43% ขณะที่ต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มของไทยสูงกว่าอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งเป็นผลจาก 1) ผลผลิตปาล์มสดต่อไร่ของไทยเฉลี่ยที่ 2.7 ตัน (อินโดนีเซีย 2.9 ตัน และมาเลเซีย 3.3 ตัน) 2) อัตราการสกัดน้ำมัน (Oil Extraction Rate : OER) ของไทยเฉลี่ยที่ 17-18% (มาเลเซียและอินโดนีเซียที่ 20% และ 22% ตามลำดับ)[5] เนื่องจากเกษตรกรไทยมักเก็บเกี่ยวผลปาล์มก่อนสุก อัตราการให้น้ำมันจึงต่ำ และ 3) โครงสร้างเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันของไทยส่วนใหญ่เป็นรายย่อย มีพื้นที่เพาะปลูกเฉลี่ย 20-25 ไร่ต่อราย ต่างจากอินโดนีเซียและมาเลเซียที่เป็นเกษตรกรรายใหญ่มากกว่า 80% และมีพื้นที่เพาะปลูกเฉลี่ยมากกว่า 200 ไร่ต่อราย นอกจากนี้ การจัดการผลผลิตของเกษตรกรไทยยังขาดประสิทธิภาพ เช่น กระบวนการคัดเลือกพันธุ์ปาล์ม การบำรุงรักษา การเก็บเกี่ยวและเก็บรักษาผลปาล์มสด อีกทั้งการขายผลปาล์มสดมักต้องผ่านพ่อค้าคนกลางหรือลานเทปาล์มน้ำมันที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงเท่านั้น เนื่องจากปริมาณผลผลิตต่อรายน้อยจึงไม่คุ้มที่จะขนส่งไปขายตรงกับโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ[6] หลายปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นทำให้ไทยไม่สามารถเปิดเสรีการค้าน้ำมันปาล์มภายใต้กรอบข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA) ได้จนถึงปัจจุบัน (1 มกราคม 2553 ประเทศสมาชิกอาเซียนมีข้อผูกพันในการปรับลดภาษีนำเข้าน้ำมันปาล์มเหลือ 0% แต่ไทยยังคงใช้มาตรการจำกัดการนำเข้าเพื่อปกป้องผู้ผลิตในประเทศ โดยน้ำมันปาล์มถือเป็น 1 ใน 23 รายการสินค้าอ่อนไหวของไทย) ขณะที่ทางการไทยยังได้จัดตั้งหน่วยงานเพื่อดูแลและสร้างความเข้มแข็งครอบคลุมเกือบทั้งห่วงโซ่การผลิต ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ทำหน้าที่ดูแลนโยบายและแผนพัฒนาปาล์มน้ำมัน จัดสรรผลผลิตปาล์มน้ำมันเพื่อการบริโภค การใช้ในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงควบคุมการนำเข้าปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มจากต่างประเทศ[7] ตลอดจนรับซื้อผลผลิตปาล์มน้ำมันจากเกษตรกรในช่วงราคาตกต่ำ และกรมการค้าภายใน (กระทรวงพาณิชย์) ทำหน้าที่กำหนดราคารับซื้อผลปาล์มสดและน้ำมันปาล์ม[8] ดังนี้
1. ราคารับซื้อผลปาล์มสด คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) (สังกัดกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์) จะกำหนดราคาแบบคละเกรด ตามเปอร์เซ็นต์น้ำมันที่ตกลงกัน ล่าสุดปี 2560 กำหนดให้โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบรับซื้อผลปาล์มสดจากเกษตรกรในเปอร์เซ็นต์น้ำมันที่ 18% ขึ้นไป (จากเดิม 17%) เพื่อพัฒนาคุณภาพน้ำมันปาล์ม (การเก็บเกี่ยวผลปาล์มที่สุกจะทำให้ได้เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงขึ้น) และยังช่วยให้เกษตรกรขายผลปาล์มสดได้ในราคาดี
2. ราคารับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ (Crude Palm Oil: CPO) จะพิจารณาจากต้นทุนวัตถุดิบ (ผลปาล์มสดในประเทศ) และทิศทางราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลก ล่าสุดเดือนกันยายน 2562 ทางการกำหนดราคารับซื้อที่ 16.2 บาทต่อกิโลกรัม (-15.1% YoY)
3. ราคาขายปลีกน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์บรรจุขวด กรมการค้าภายในกำหนดให้ราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดลอยตัวโดยอ้างอิงตามราคาต้นทุนล่าสุดเดือนกันยายน 2562 ราคาน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์บรรจุขวด 1 ลิตร (รวม VAT) อยู่ที่ 30.0 บาทต่อกิโลกรัม[9]
หลายปัจจัยข้างต้นมีส่วนทำให้ต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มทั้งระบบของไทยสูงกว่ามาเลเซียและอินโดนีเซียมาโดยตลอด และมากกว่า
10%[10] ในบางช่วงเวลา ไทยจึงไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ในตลาดโลก ผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบประมาณ 75% จึงใช้บริโภคในประเทศเป็นหลัก (ภาพที่ 4) ส่วนการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบแต่ละปีจะมีปริมาณไม่มากนักขึ้นกับผลผลิตส่วนเกินแต่ละช่วงเวลา อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2560 ทางการเร่งส่งเสริมให้มีการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นเพื่อบรรเทาภาวะอุปทานส่วนเกินในประเทศ ส่วนการนำเข้าจะมีเป็นครั้งคราว เช่น ช่วงที่สต็อกน้ำมันปาล์มดิบต่ำกว่าระดับสินค้าคงคลังสำรอง (Buffer Stock) ซึ่งทางการกำหนดที่ระดับประมาณ 225,000-250,000 ตัน[11]
สำหรับการบริโภคน้ำมันปาล์มดิบในประเทศแบ่งเป็น 2 ส่วน (ข้อมูลปี 2561) คือ 1) ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่างๆ (สัดส่วน 68%) ได้แก่ i) อุตสาหกรรมไบโอดีเซลหรือ B100 (สัดส่วน 49%) เพื่อนำไปผสมเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ โดยทางการจะปรับอัตราส่วนผสม B100 ในน้ำมันดีเซลให้สอดคล้องกับผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบแต่ละช่วงเวลา (เช่น ปี 2558 มีการปรับลดจาก B7 เป็น B3.5 เนื่องจากปริมาณน้ำมันปาล์มดิบมีน้อย และปี 2562 ปรับเพิ่มจาก B7 เป็น B10 จากภาวะอุปทานส่วนเกินของน้ำมันปาล์มดิบที่ค่อนข้างสูง) ii) อุตสาหกรรมอาหาร (สัดส่วน 16%) อาทิ ขนมขบเคี้ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นมข้นหวาน ครีมเทียม มาการีน เนยขาว ไอศกรีม รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพประเภทวิตามิน และ iii) อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และอุตสาหกรรม Oleochemicals (สัดส่วนรวมกัน 3%) เพื่อใช้ในการผลิตสินค้าอื่นๆ เช่น สบู่ เครื่องสำอางและแชมพู เป็นต้น (ภาพที่ 5) และ 2) ใช้กลั่นเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำมันปาล์มขั้นปลาย คิดเป็นสัดส่วน 32% ของปริมาณน้ำมันปาล์มดิบในประเทศ
สถานการณ์ที่ผ่านมา
ปี 2557-2559 สถานการณ์ภัยแล้งส่งผลให้ผลผลิตปาล์มสดในประเทศลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 8 ปีที่ 11.4 ล้านตันในปี 2559 (ภาพที่ 6) และผลักดันให้ราคาเฉลี่ยของน้ำมันปาล์มดิบปี 2559 สูงสุดในรอบ 5 ปีที่ 32.0 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นถึง 16.9% จาก 27.3 บาท/กิโลกรัมปี 2558 (ภาพที่ 7) ทั้งยังเกิดส่วนต่างราคาที่สูงกว่าตลาดโลกถึงกิโลกรัมละ 11-12 บาท
ปี 2560-2561 ผลผลิตน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กดดันราคาตกต่ำ จากสภาพอากาศที่เข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้ปริมาณน้ำฝนมีเพียงพอ ประกอบกับมีผลผลิตจากพื้นที่ปลูกใหม่ในช่วงปี 2551-2555 ตามนโยบายส่งเสริมของภาครัฐ ส่งผลให้ผลผลิตปาล์มสดเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับมากกว่า 15 ล้านตันต่อปี ขณะที่ผลผลิตต่อไร่อยู่ที่ 2,918 กิโลกรัมในปี 2560 และเพิ่มเป็น 3,024 กิโลกรัมในปี 2561 จากเฉลี่ย 2,872 กิโลกรัมในปี 2557-2559 จึงกดดันให้ราคาผลปาล์มสดปรับลดลงมากโดยแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 12 ปีที่ 2.3 บาทในเดือนธันวาคมปี 2560 (ภาพที่ 7)
ผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบปรับเพิ่มขึ้นตามปริมาณผลปาล์มสดที่ 2.6 ล้านตัน (+45.6 %YoY) และ 2.8 ล้านตัน (+5.8 %YoY) ในปี 2560 และ 2561 ตามลำดับ ทั้งนี้ อุปทานน้ำมันปาล์มดิบในประเทศที่เพิ่มขึ้นมาก ผนวกกับปัจจัยลบต่างๆ ที่กดดันการส่งออก อาทิ สต๊อกน้ำมันปาล์มทั่วโลกอยู่ในระดับสูง สหภาพยุโรปทยอยยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากน้ำมันปาล์มภายในปี 2564 และอินเดียเพิ่มภาษีนำเข้าน้ำมันพืชทุกชนิด (โดยเฉพาะน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นจาก 15% เป็น 30% และน้ำมันปาล์มผ่านกรรมวิธีการกลั่นจาก 25% เป็น 40%) ส่งผลกดดันให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศปรับลดลงแรงกว่าราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลก (ภาพที่ 8) โดยปี 2560 และ 2561 ราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศเฉลี่ยที่กิโลกรัมละ 24.9 บาท (-22.2% YoY) และ 19.6 บาท (-21.4% YoY) ตามลำดับ
ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบในประเทศอยู่ที่ 2.1 ล้านตัน (+18.5%YoY) ในปี 2560 และ 2.4 ล้านตัน (+13.6%YoY) ในปี 2561 เป็นผลจากเศรษฐกิจไทยเติบโตดี ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ และอุตสาหกรรม Oleochemicals ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มในอุตสาหกรรมไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นจากมาตรการพยุงราคาน้ำมันปาล์มของภาครัฐ อาทิ การเพิ่มสัดส่วนผสม B100 ในน้ำมันดีเซลเป็น 7% หรือ B7 (มีผล 8 พฤษภาคม 2560) การส่งเสริมให้ใช้ B20 ในรถบรรทุกขนาดใหญ่ (มีผล 1 กรกฎาคม 2561) และการเร่งดูดซับน้ำมันปาล์มดิบออกจากระบบ โดย 1) ขอความร่วมมือให้ผู้ผลิตและผู้ค้าปรับสำรองไบโอดีเซลเพิ่มขึ้น 2) นำน้ำมันปาล์มดิบ 160,000 ตันไปผลิตกระแสไฟฟ้า และ 3) ส่งเสริมให้มีการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบปีละ 3 แสนตัน ซึ่งทำให้ปริมาณส่งออกน้ำมันปาล์มดิบปี 2560 และ 2561 อยู่ที่ 3.0 แสนตัน (+441.1%YoY) และ 3.7 แสนตัน (+23.1%YoY) ตามลำดับ จากเฉลี่ย 2.1 แสนตันในช่วงปี 2555-2559 โดยเป็นการส่งออกไปยังตลาดอินเดียเกือบ 90% ของปริมาณส่งออกรวม ที่เหลือเป็นตลาดเอเชีย อาทิ เมียนมา มาเลเซีย กัมพูชา และจีน อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบโดยรวมยังไม่เพียงพอที่จะดูดซับปริมาณให้ลดลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม (ประมาณ 2.25-2.50 แสนตัน) ทำให้ ณ สิ้นปี 2561 สต็อกสะสมของน้ำมันปาล์มดิบยังคงสูงถึง 4.7 แสนตัน (ตารางที่ 2)
ปี 2562 อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มเผชิญภาวะอุปทานส่วนเกินต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 14 ปี
ผลผลิตปาล์มสดและน้ำมันปาล์มดิบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรประเมินปี 2562 พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันที่ให้ผลผลิตอยู่ที่ 5.45 ล้านไร่ (+7.1% YoY) ขณะที่กระทรวงพาณิชย์คาดผลผลิตปาล์มสดจะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 16.8 ล้านตัน (+9.2% YoY) เทียบกับ 15.4 ล้านตันในปี 2561 ด้านผลผลิตปาล์มน้ำมันต่อไร่เพิ่มขึ้นเป็น 3,083 กิโลกรัม (+1.9% YoY) คิดเป็นปริมาณน้ำมันปาล์มดิบสูงถึง 2.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 2.6 ล้านตันในปี 2561 สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ของโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบช่วง 8 เดือนแรกของปี 2562 เพิ่มขึ้นถึง 11.7% YoY (ภาพที่ 9)
- ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบที่น้อยกว่าอุปทาน ทำให้ราคาลดลงต่อเนื่อง ปี 2562 กระทรวงพาณิชย์คาดความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบจะอยู่ที่ 2.5 ล้านตัน (+1.4% YoY) แบ่งเป็น 1) การใช้ในภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรม 1.2 ล้านตัน โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์และอุตสาหกรรม Oleochemicals และ 2) การใช้ในภาคพลังงาน 1.2-1.3 ล้านตัน ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับอุปทานน้ำมันปาล์มดิบที่สูงถึง 2.9 ล้านตัน รวมกับสต๊อกคงค้างจากปี 2561 ประมาณ 4.7 แสนตัน จึงกดดันให้ราคาผลปาล์มสดและน้ำมันปาล์มดิบลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 14 ปี ที่กิโลกรัมละ 1.9 บาท (เดือนเมษายน) และ 14.7 บาท (เดือนมีนาคม) ตามลำดับ ส่งผลให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มเพื่อดูดซับผลผลิตออกจากตลาดและพยุงราคาไม่ให้ตกต่ำ อาทิ กำหนดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำน้ำมันปาล์มดิบไปผลิตกระแสไฟฟ้าร่วมกับก๊าซธรรม ชาติจำนวน 3 แสนตัน[12] การจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม 1,500 บาทต่อไร่ การกำหนดราคาขายปลีก B20 ต่ำกว่า B7 (ดีเซลปกติ) 5 บาทต่อลิตร (1 ธันวาคม 2561 - 30 กันยายน 2562) การผลักดันให้ใช้ B10 เป็นน้ำมันดีเซลเกรดมาตรฐาน (เริ่มดำเนินการ 1 ตุลาคม 2562 มีผล 1 มกราคม 2563) มาตรการข้างต้นส่งผลให้สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกินทยอยปรับลดลง ขณะที่ราคากระเตื้องขึ้นเล็กน้อย (ล่าสุดเดือนตุลาคม 2562 ราคาผลปาล์มสดและน้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่กิโลกรัมละ 2.77 บาท และ 16.63 บาท ตามลำดับ)
ปริมาณส่งออกน้ำมันปาล์มดิบช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 อยู่ที่ 2.5 แสนตัน (-18.8% YoY) เทียบกับ 3.11 แสนตันในช่วงเดียวกันปี 2561 ทั้งนี้ การส่งออกน้ำมันปาล์มดิบของไทยยังทำได้จำกัด เนื่องจากตลาดน้ำมันปาล์มโลกอยู่ในช่วงซบเซาและเผชิญภาวะอุปทานล้นตลาด หลังสหภาพยุโรปประกาศเลิกใช้น้ำมันปาล์มภายในปี 2563-2564 ทำให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกแตะระดับต่ำสุดในรอบ 14 ปี ที่ตันละ 575 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากที่เคยสูงกว่า 1,300 ดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2551 ประกอบกับอินเดียซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักปรับลดอัตราภาษีนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบให้แก่มาเลเซีย[13] และอินโดนีเซียแต่คงของไทยไว้ที่ระดับเดิม
วิจัยกรุงศรีประเมินความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบที่ไม่สมดุลกับอุปทานจะทำให้สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบสะสมสูงถึง 6 แสนตันในช่วงสิ้นปี 2562 เพิ่มขึ้นถึง 29% จากปี 2561 และสูงกว่าระดับ Buffer Stock ถึง 2.4 เท่า
แนวโน้มอุตสาหกรรม
ปี 2563-2565 คาดอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มยังเผชิญภาวะอุปทานส่วนเกินต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคามีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ โดยอุปทานน้ำมันปาล์มได้ปัจจัยหนุนจาก
1) พื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 3 แสนไร่ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมให้ขยายพื้นที่ปลูกปาล์มให้ได้ 10 ล้านไร่ภายในปี 2572 เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน โดยพื้นที่เป้าหมายหลักคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งปาล์มเป็นพืชที่ให้ผลผลิตตลอดปี
2) ต้นปาล์มน้ำมัน อายุเกิน 8 ปี มีจำนวนมากขึ้นซึ่งอยู่ในเกณฑ์อายุที่ให้ผลผลิตต่อไร่ (Yield) สูง[14] และ
3) คาดสภาพอากาศจะเอื้ออำนวย[15] โดยฤดูฝนในภาคใต้มีแนวโน้มอยู่ในระดับปกติ ส่งผลให้ผลปาล์มสดต่อไร่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น (ภาพที่ 13) ปัจจัยข้างต้นจะส่งผลให้ปริมาณน้ำมันปาล์มดิบสูงขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 3.0-3.2 ล้านตัน/ปี (ภาพที่ 14)
สำหรับความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบในประเทศคาดว่าจะเติบโตแต่อยู่ในระดับต่ำกว่าอุปทานใหม่ที่เข้าสู่ตลาด จากภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตในอัตราต่ำต่อเนื่อง โดยความต้องการใช้น้ำมันปาล์มจากอุตสาหกรรมหลักมีดังนี้
- อุตสาหกรรมไบโอดีเซล คาดความต้องการใช้ไบโอดีเซลในประเทศจะอยู่ที่ 5.8-6.4 ล้านลิตรต่อวันหรือเติบโตเฉลี่ย 5-10% ต่อปี จาก 1) การเติบโตของภาคขนส่งโดยเฉพาะการขนส่งทางบก ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรีคาดว่าจำนวนรถเครื่องยนต์ดีเซลจะเพิ่มขึ้น 5-6% ต่อปี ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3% ต่อปี และ 2) ทางการกำหนดให้ใช้น้ำมันดีเซล B10 เป็นเกรดน้ำมันมาตรฐานแทน B7 ในปัจจุบัน (เริ่ม 1 มกราคม 2563) และตั้งเป้าหมายให้ไทยใช้ B20 เป็นน้ำมันมาตรฐานในอนาคต โดยหลังบังคับใช้ B10 แล้วคาดว่าความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพื่อเป็นส่วนผสมในน้ำมันดีเซลจะอยู่ที่ 2 ล้านตันต่อปี สอดคล้องกับมาเลเซียและอินโดนีเซียที่เร่งส่งเสริมการใช้น้ำมันปาล์มดิบเป็นส่วนผสมในน้ำมันเชื้อเพลิงมากขึ้น โดยปี 2563 อินโดนีเซียเตรียมประกาศใช้ B30 แทน B20 ขณะที่มาเลเซียเตรียมใช้ B20 แทน B7
- อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ คาดความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพื่อกลั่นเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์จะเติบโตในระดับต่ำ สะท้อนจากอัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560-2562) เฉลี่ยที่ระดับ 43.4% เทียบกับน้ำมันถั่วเหลือง (91.2%) และน้ำมัน รำข้าว (66.7%) ซึ่งเป็นสินค้าทดแทนและราคามีแนวโน้มอยู่ในระดับใกล้เคียงกับน้ำมันปาล์ม[16] ประกอบกับน้ำมันปาล์มมีไขมันอิ่มตัวสูง ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มเลือกบริโภคน้ำมันประเภทอื่นแทน
- อุตสาหกรรม Oleochemicals คาดความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบ/ไขมันปาล์ม (ได้จากกระบวนการสกัดบริสุทธิ์) จะเพิ่มขึ้นตามการบริโภคสินค้าในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ ผงซักฟอก สบู่ ยา และเครื่องสำอาง ล่าสุด ทางการยังมีแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ Oleochemicals ต่อเนื่องในส่วนของสารหล่อลื่นชีวภาพ (Biolubricant) ซึ่งประเมินว่าตลาดสารหล่อลื่นชีวภาพของโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 1.25 แสนล้านบาทในปี 2569 เพิ่มขึ้นจาก 8.5 หมื่นล้านบาทปี 2561 หากมีการผลิตในประเทศได้มากขึ้น นับเป็นปัจจัยบวกที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าและความต้องการใช้ปาล์มน้ำมันได้อีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ วิจัยกรุงศรี ประเมินว่าสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบสะสมในประเทศจะอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบโลก ขณะที่ความต้องการใช้ยังเติบโตไม่มากพอจะดูดซับอุปทานส่วนเกินส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศปี 2563-2565 จะทรงตัวที่ระดับต่ำในทิศทางเดียวกับราคาในตลาดโลกเฉลี่ยที่กิโลกรัมละ 15-17 บาท
ในระยะต่อไป อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทยยังเผชิญปัจจัยท้าทายหลายด้าน อาทิ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหภาพยุโรป (หนึ่งในผู้บริโภคน้ำมันปาล์มหลักของโลก) ที่ดำเนินมาตรการอย่างจริงจังโดยกำหนดให้ประเทศสมาชิกลดการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากพืช (ซึ่งรวมถึงปาล์มน้ำมัน) ที่ปลูกในพื้นที่ที่มีคาร์บอนสูงจนเป็น “ศูนย์” ในปี 2573[7] ส่งผลให้เกิดกระแส “Zero Palm Oil” ในภาคขนส่งของยุโรป และการให้ความสำคัญกับสุขภาพยังทำให้เกิดกระแส “Palm Oil Free” ในสินค้าอาหารต่างๆ ในยุโรป เนื่องจากน้ำมันปาล์มถูกมองว่าเป็นแหล่งไขมันอิ่มตัว (Saturated Fat) และมีสารก่อมะเร็งในปริมาณมากเมื่อเทียบกับพืชน้ำมันอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีการใช้มาตรการกีดกันจากประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่โดยเฉพาะอินเดีย ตลอดจนแนวโน้มการใช้รถยนต์ไฟฟ้าและสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบโลกที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ปัจจัยข้างต้นนับเป็นแรงกดดันต่ออุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มในประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตาม วิจัยกรุงศรีประเมินว่า “แผนปฏิรูปปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบปี 2560-2579” และการเร่งออก “พระราชบัญญัติปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน” เพื่อให้สามารถจัดตั้งกองทุนมาบริหารจัดการน้ำมันปาล์มได้ทั้งระบบ น่าจะมีส่วนช่วยดูแลอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต
มาตรการ/โครงการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ปี 2561-2562
1.มาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ - การไฟฟ้าฝ่ายผลิตรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบเพื่อนำไปผลิตไฟฟ้าในช่วงที่อุปทานส่วนเกินของปาล์มน้ำมันสู
2.มาตรฐานโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม - กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดอัตราการสกัดน้ำมันขั้นต่ำที่โรงสกัดน้ำมันปาล์มต้องผลิต (โรง A ไม่ต่ำกว่า 18% และโรง B ไม่ต่ำกว่า 30%) โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 23 เมษายน 2562 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2562
3.มาตรการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว - กรมธุรกิจพลังงานกำหนดมาตรฐานการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B7 B10 และ B20 และคุณลักษณะรถที่ใช้กับน้ำมันแต่ละประเภท โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเร่งรัดให้ใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B10 เป็นเกรดมาตรฐานตั้งแต่ 1 มกราคม 2563
4.โครงการประกันรายได้แก่เกษตรกรสวนปาล์มน้ำมัน - 27 สิงหาคม 2562 คณะรัฐมนตรีอนุมัติจ่ายเงินส่วนต่างระหว่างราคาประกันและราคาอ้างอิงของปาล์มน้ำมันให้แก่เกษตรกรไม่เกิน 25 ไร่/ครัวเรือน (กรณีราคาตลาดต่ำกว่า) โดยราคาประกันอยู่ที่ 4 บาท/กิโลกรัม สำหรับเปอร์เซ็นต์น้ำมันที่ 18%
พระราชบัญญัติปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์จากปาล์มน้ำมัน
ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาและเสนอร่างจากกฤษฎีกา โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเป็นลำดับ
แผนพัฒนาปาล์มน้ำมันของไทย
แผนปฏิรูปปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบปี 2560-2579 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มีเป้าหมายดังนี้
* ขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันควบคู่กับการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ไม่ต่ำกว่า 10% จากปัจจุบัน รวมถึงปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการแปรรูปให้ได้อัตราน้ำมัน 22-23% เพื่อให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นเพียงพอกับความต้องการบริโภคในอนาคต
* เพิ่มอุปสงค์ในประเทศ โดย 1) เพิ่มการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคเฉลี่ย 3% ต่อปี และ 2) เพิ่มการใช้น้ำมันปาล์มเป็นพลังงานทดแทน พร้อมกับรักษาระดับการส่งออกน้ำมันปาล์มที่ 3-7 แสนตันต่อปี
แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561-2580 (Alternative Energy Development Plan: AEDP2018) ปี 2562 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงานปรับปรุงแผนพัฒนาฯ ใหม่โดยลดเป้าการใช้ไบโอดีเซลลงจากเป้าหมายที่กำหนดไว้เพื่อให้สอดรับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาวปี 2561-2580 (PDP) ซึ่งจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเกือบทุกประเภทโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ชีวมวล และขยะ ขณะที่ปรับลดการใช้พลังงานทดแทนประเภทเชื้อเพลิงชีวภาพโดยเฉพาะเอทานอลและไบโอดีเซล เนื่องจากภาคขนส่งจะเน้นระบบรถไฟฟ้ามากขึ้น (เบื้องต้นคาดว่าจะปรับลดเป้าหมายการผลิตไบโอดีเซลจาก 14 ล้านลิตรเป็น 8 ล้านลิตรในปี 2580)
มุมมองวิจัยกรุงศรี
ปี 2563-2565 อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มยังเผชิญภาวะอุปทานล้นตลาดต่อเนื่อง ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มจะเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศยังทรงตัวในระดับต่ำในทิศทางเดียวกับราคาในตลาดโลกจึงอาจมีผลลดทอนโอกาสการทำกำไรของธุรกิจ
- เกษตรกรปาล์มน้ำมัน: ผู้ประกอบการยังมีความเสี่ยง แม้มาตรการแทรกแซงอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของทางการจะทำให้ราคาผลปาล์มสดสูงกว่าระดับต้นทุน ส่งผลดีต่อเกษตรกรที่เป็นลูกไร่ของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ แต่คาดว่าราคาปาล์มจะเพิ่มขึ้นในระดับไม่สูงนักจากอุปทานที่มีอยู่มาก ขณะที่เกษตรกรรายย่อย/อิสระยังเผชิญความเสี่ยงด้านตลาดจากโรงงานสกัดและลานเทปาล์มที่มีความไม่แน่นอน
- โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ: ผลประกอบการยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว แม้จะมีมาตรการสนับสนุนและยกระดับมาตรฐานพลังงานของภาครัฐ อาทิ การนำ CPO ไปผลิตกระแสไฟฟ้า การสนับสนุนให้ใช้ไบโอดีเซล และการสนับสนุนการส่งออกน้ำมันปาล์ม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตรวมของโรงสกัดที่สูงกว่าปริมาณผลปาล์มสดที่ออกสู่ตลาด ส่งผลให้มีอัตรากำลังการผลิตส่วนเกินในธุรกิจ รวมถึงการแข่งขันแย่งชิงวัตถุดิบจะผลักดันให้ต้นทุนการผลิตของน้ำมันปาล์มดิบสูงขึ้น อาจกดดันผลกำไรของธุรกิจหรือมีผลให้โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบเผชิญปัญหาขาดทุนจากสต็อกในบางช่วงเวลา โดยเฉพาะโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบรายย่อยที่ไม่มีเครือข่าย
- โรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์: คาดผลประกอบการและอัตรากำไรจะเติบโตต่อเนื่อง ผลจากต้นทุนน้ำมันปาล์มดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจอาจถูกกดดันจากสินค้าทดแทน เช่น น้ำมันถั่วเหลืองซึ่งราคามีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำเช่นกัน
- ผู้ค้าพืชน้ำมันที่ใช้ในการผลิตน้ำมันพืช (ลานเทปาล์มน้ำมัน): รายรับมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นตามปริมาณผ<
เวลาโพส : 2021-09-17 19:26:33
(
แสดงความคิดเห็น )