บอร์ด กนป. ไฟเขียวส่งออกน้ำมันปาล์ม 1.5 แสนตัน-ประกันรายได้ต่อเนื่อง
ข่าวเศรษฐกิจ12:08น.
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ครั้งที่ 3/2565 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบการเปิดตลาดน้ำมันปาล์มและน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์มคราวละ 3 ปี (ปี 66-68) และขอขยายระยะเวลาดำเนินการตามโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกินปี 65 เป้าหมาย 150,000 ตัน โดยขยายระยะเวลาส่งออกเป็นสิ้นสุดเดือน ธ.ค.65
พร้อมทั้งเห็นชอบให้ดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 65-66 โดยให้เริ่มจ่ายเงินชดเชยประกันรายได้ งวดที่ 1 ให้แก่เกษตรกรตั้งแต่เดือน ก.ย.65 เพื่อให้มีความต่อเนื่องจากโครงการฯ ปี 64-65
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาเลือกผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติแทนที่ชุดเดิมซึ่งหมดวาระในวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิประกอบไปด้วยผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ จำนวน 7 คน และผู้ประกอบการสวนปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นตัวแทนเกษตรกร จำนวน 3 คน
นอกจากนี้ ที่ประชุม ยังได้รับทราบสถานการณ์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มในประเทศและตลาดโลกที่ได้รับผลกระทบจากการที่ประเทศอินโดนีเซียประกาศยกเลิกภาษีส่งออกสำหรับผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มทั้งหมด แต่จากสถานการณ์ภัยแล้งในทวีปอเมริกา ทำให้ราคาน้ำมันพืชชนิดต่างๆ รวมถึงน้ำมันปาล์มยังทรงตัว ไม่ปรับลดลงมากนัก
สำหรับสถานการณ์ความต้องการใช้น้ำมันดิบในประเทศ คาดว่า ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบในภาคบริโภคและอุตสาหกรรมจะปรับลดลงมาอยู่ที่ 0.09 ล้านตันต่อเดือน เนื่องจากภาวะการค้าและการบริโภคยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ขณะที่ภาคพลังงานปรับเพิ่มขึ้นหลังจากมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 27 ก.ย.65 เห็นชอบให้กำหนดเพิ่มสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลจาก บี5 เป็น บี7 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค.-31 ธ.ค.65
ด้าน พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนกลไกบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร ได้ย้ำให้ทุกหน่วยงานคำนึงถึงเกษตรกร ผู้บริโภค และผู้ประกอบการ ไม่ไห้ได้ผลกระทบ หรือได้ผลกระทบน้อยที่สุดจากการดำเนินการของรัฐบาล โดยเน้นมาตรการระยะยาวแปรรูป และเพิ่มมูลค่าให้ปาล์มเป็นพืชเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ทั้งยังได้ส่งเสริมผลิตภัณฑ์ 8 ชนิด ส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ (SAF) ซึ่งในปัจจุบัน ได้มีภาคเอกชนหลายรายเริ่มลงทุนแล้ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ต.ค. 65)