พร้อมรับฟังความเห็นทุกฝ่าย ลุยไฟร่างกฎหมายปาล์ม มั่นใจดีสุดรอบ 7 ปี
ฐานเศรษฐกิจ
17 พ.ค. 2568 | 04:30 น.
ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมอุตสาหกรรมปาล์มนํ้ามัน พ.ศ. ....” จำเป็นที่จะต้องตราพระราชบัญญัตินี้เพราะการพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำและอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้ปาล์มนํ้ามันและนํ้ามันปาล์มเป็นวัตถุดิบ จำเป็นต้องได้รับการบริหารจัดการและส่งเสริมตลอดห่วงโซ่อุปทานอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับคุณภาพอย่างครบวงจร
ครอบคลุมตั้งแต่การเพาะพันธุ์ การปลูก การผลิต การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ การศึกษาวิจัยพัฒนา การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ตลอดจนถึงการจำหน่าย โดยปาล์มนํ้ามันเป็นพืชเศรษฐกิจของไทยที่มีความสำคัญทั้งด้านความมั่นคงทางอาหารและกิจการพลังงาน
อย่างไรก็ดีโครงสร้างการกำกับดูแลปาล์มนํ้ามันในปัจจุบันกลับมีความสลับซับซ้อนและกระจายอยู่หลายหน่วยงาน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนโยบายของภาครัฐส่งผลกระทบต่อราคาโดยตรง อาทิ การยกเลิกจ่ายเงินชดเชยให้แก่นํ้ามันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพหรือกฎเกณฑ์การค้าเสรีในระดับสากลที่มุ่งคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายเพื่อบูรณาการภารกิจและการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมปาล์มนํ้ามัน
พร้อมรับฟังความเห็นทุกฝ่าย ลุยไฟร่างกฎหมายปาล์ม มั่นใจดีสุดรอบ 7 ปี
ล่าสุด ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว และเตรียมจะเปิดรับฟังความคิดเห็นในเร็ว ๆ นี้ “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี” ประธานคณะกรรมการเพื่อยกร่างกฎหมายส่งเสริมปาล์มนํ้ามัน กระทรวงพลังงาน และประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ถึง ร่างกฎหมายฉบับนี้ที่มี 9 หมวด รวมหมวดเฉพาะกาล มี 74 มาตรา และจะบริหารจัดการและกำกับดูแลโดย คณะกรรมการอุตสาหกรรมปาล์มนํ้ามัน (กอป.) โดยใช้ระบบอ้อยและนํ้าตาลทราย มายกร่างกฎหมายใหม่ในฉบับนี้ ซึ่งจะทำให้โครงสร้างราคาปาล์มนํ้ามันและนํ้ามันปาล์ม ต้นทางถึงปลายทางสอดรับกันแบบมีเหตุและผล
คณะกรรมการมาจากทุกภาคส่วน
นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า คณะกรรมการอุตสาหกรรมปาล์มนํ้ามัน (กอป.) จะมีองค์ประกอบทั้งภาครัฐ ชาวสวนปาล์ม และประกอบการ เพื่อกำหนดแนวทางการจัดสรรและแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรมระหว่างเกษตรกรกับผู้ประกอบการ พร้อมทั้ง จัดตั้งสำนักงานอุตสาหกรรมปาล์มนํ้ามัน ขึ้นมา ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยจะมีหน้าที่โดยตรงในการกำกับดูแลอุตสาหกรรมปาล์มนํ้ามันเพื่อยกระดับขีดความสามารถการผลิต นํ้ามันปาล์มให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
นอกจากนี้จะจัดให้มีสำนักงานกองทุนอุตสาหกรรมปาล์มนํ้ามัน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพของระบบมีกลไกส่งเสริมการแปรรูปที่หลากหลายตรงกับความต้องการของตลาด ตลอดจนการแก้ปัญหาความเหลื่อมลํ้าของระดับรายได้ในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม สู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน
พร้อมรับฟังความเห็นทุกฝ่าย ลุยไฟร่างกฎหมายปาล์ม มั่นใจดีสุดรอบ 7 ปี
แนวคิดข้างต้นได้เสนอผ่านการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มนํ้ามันแห่งชาติ (กนป.) ที่มี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานแล้ว เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมาถึงปัญหาโครงสร้างราคาปาล์ม ที่ในทางปฏิบัติยังมีปัญหา ซึ่งต่อให้สูตรโครงสร้างรู้ราคาปลายทาง แต่ราคาต้นทางก็บังคับให้ซื้อไม่ได้อยู่ดี เพราะกฎหมายไม่ได้บอกให้บังคับได้จะแตกต่างจากอ้อย
เนื่องจากอ้อยจะมีโครงสร้างกฎหมายโดยเฉพาะเป็นพระราชบัญญัติอ้อยและนํ้าตาลทรายฯ ซึ่งเป็นพืชชนิดเดียวที่สังกัดอยู่ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมที่เป็นทั้งพืชพลังงานและพืชอาหาร ซึ่งปาล์มนํ้ามันก็เหมือนกับอ้อย คือ เป็นทั้งอาหารและพืชพลังงานด้วย จึงมีแนวคิดที่จะนำระบบอ้อย และนํ้าตาลทรายมายกร่างกฎหมายใหม่ในฉบับนี้
“ทุกบาทที่ราคานํ้าตาลทรายปรับราคาขึ้น จะส่งผลรายได้ของชาวอ้อยที่เพิ่มขึ้นด้วย แต่พืชชนิดอื่น สินค้าแปรรูปสุดท้ายปลายทางขึ้นไม่ได้ หมายความว่าเกษตรกรจะได้เพิ่มหากตัดพ่อค้าคนกลางออกไป ซึ่งระบบเดียวที่ควบคุมต้นนํ้าถึงปลายนํ้าได้ดีที่สุดในเรื่องกลไกราคาในเวลานี้คืออ้อย ท่านประธานฯ ก็ให้ความเห็นว่าโมเดลอ้อย น่าสนใจ ท่านจึงแจ้งในที่ประชุมมติปาล์มฯ ให้กระทรวงพลังงาน เป็นแม่งานในการไปดูในเรื่องโครงสร้างราคาปาล์ม ขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวได้ยกร่างเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ พร้อมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและจะดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป”
เร่งโครงสร้างราคาที่เหมาะสม
ส่วนสูตรโครงสร้างราคาปาล์มอยู่ในระหว่างการทำโครงสร้างราคาที่เหมาะสม ระบบที่ดีน่าจะอยู่ในระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างเกษตรกรกับโรงงาน เช่นเดียวกับอ้อย เมื่อมีการแบ่งปันผลประโยชน์กันได้ ก็จะทำให้มีการควบคุมราคาตลอดซัพพลายเชน ซึ่งจะมีการการเปิดเผยตลอดห่วงโซ่ รวมถึงผลพลอยได้ด้วย ว่าแต่ละช่วงจะมีรายได้กี่บาท ที่สำคัญจะต้องเซ็ตมาตรฐานใหม่ด้วยเช่นเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับอินโดนีเซีย และมาเลเซียผู้ผลิตปาล์มนํ้ามันอันดับ 1 และ 2 ของโลก ก็ใช้มาตรฐานเดียวกัน แต่ของไทยมีหลายมาตรฐานมากเกินไป เช่นมีโรงงานสกัดนํ้ามันปาล์ม ,โรงงานบีบเมล็ดในปาล์ม เป็นต้น ควบคุมลำบาก
พร้อมรับฟังความเห็นทุกฝ่าย ลุยไฟร่างกฎหมายปาล์ม มั่นใจดีสุดรอบ 7 ปี
“ปาล์มจะต้องจัดคิวแบบอ้อยในการรับซื้อ เพราะฉะนั้นกองทุนอุตสาหกรรมปาล์มที่จะตั้งขึ้นมา ทั้งโรงงานและเกษตรกรต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อใช้ในการบริหารจัดการ ส่วนกองทุนจะเข้าไปดูแลบริหารจัดคิว ปาล์มเข้าโรงงาน เพื่อไม่ให้แย่งกัน และไม่เร่งรีบซื้อปาล์ม จากเกษตรกรบางรายเร่งรีบเอาปาล์มไม่สุกและให้เปอร์เซ็นต์นํ้ามันตํ่ามาขาย ไม่คุ้มค่าในการที่จะเดินเครื่องจักรmทั้งนี้ในส่วนของเกษตรกรจะมีระบบประกันรายได้พืชผลใส่เข้าไปด้วย เรียกว่าเป็นกลไกที่ไม่เคยอยู่ในร่างกฎหมายปาล์มฉบับใดเลยในรอบ 7 ปี ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ทั้งผู้ประกอบการและเกษตรกร และเชื่อว่าธุรกิจอุตสาหกรรมปาล์มยังมีอนาคต” นายอรรถวิชช์ กล่าว
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 45 ฉบับที่ 4,097 วันที่ 18 - 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2568